วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ม.1

บทเรียนประวัติกีฬาปิงปอง (ข้อมูลจากการกีฬาแห่งประเทศไทย)
เท่าที่มีหลักฐานบันทึกพอให้ค้นคว้า ทำให้เราได้ทราบว่ากีฬาเทเบิลเทนนิสได้เริ่มขึ้นที่ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1890 ในครั้งนั้น อุปกรณ์ที่ใช้เล่นประกอบด้วย ไม้ หนังสัตว์ ลักษณะคล้ายกับไม้เทนนิสในปัจจุบันนี้ หากแต่ว่าแทนที่จะขึงด้วยเส้นเอ็นก็ใช้แผ่นหนังสัตว์หุ้มไว้แทน ลูกที่ใช้ตีเป็นลูกเซลลูลอยด์ เวลาตีกระทบถูกพื้นโต๊ะและไม้ก็เกิดเสียง “ปิก-ป๊อก” ดังนั้น กีฬานี้จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งตามเสียงทีได้ยินว่า “ปิงปอง” (PINGPONG) ต่อมาก็ได้มีการวิวัฒนาการขึ้นโดยไม้หนังสัตว์ได้ถูกเปลี่ยนเป็นแผ่นไม้แทน ซึ่งได้เล่นแพร่หลายในกลุ่มประเทศยุโรปก่อน 
วิธีการเล่นในสมัยยุโรปตอนต้นนี้เป็นการเล่นแบบยัน (BLOCKING) และแบบดันกด (PUSHING) ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นการเล่นแบบ BLOCKING และ CROP การเล่นถูกตัด ซึ่งวิธีนี้เองเป็นวิธีการเล่นที่ส่วนใหญ่นิยมกันมากในยุโรป และแพร่หลายมากในประเทศต่าง ๆ ทั่วยุโรป การจับไม้ก็มีการจับไม้อยู่ 2 ลักษณะ คือ จับไม้แบบจับมือ (SHAKEHAND) ซึ่งเราเรียกกันว่า “จับแบบยุโรป” และการจับไม้แบบจับปากกา (PEN-HOLDER) ซึ่งเราเรียกกันว่า “จับไม้แบบจีน” นั่นเอง 
ในปี ค.ศ. 1900 เริ่มปรากฏว่า มีไม้ปิงปองที่ติดยางเม็ดเข้ามาใช้เล่นกัน ดังนั้นวิธีการเล่นแบบรุกหรือแบบบุกโจมตี (ATTRACK หรือ OFFENSIVE) เริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้น และยุคนี้จึงเป็นยุคของนายวิตเตอร์ บาร์น่า (VICTOR BARNA) อย่างแท้จริง เป็นชาวฮังการีได้ตำแหน่งแชมเปี้ยนโลกประเภททีม รวม 7 ครั้ง และประเภทชายเดี่ยว 5 ครั้ง ในปี ค.ศ. 1929-1935 ยกเว้นปี 1931 ที่ได้ตำแหน่งรองเท่านั้น ในยุคนี้อุปกรณ์การเล่น โดยเฉพาะไม้มีลักษณะคล้าย ๆ กับไม้ในปัจจุบันนี้ วิธีการเล่นก็เช่นเดียวกัน คือมีทั้งการรุก (ATTRACK) และการรับ (DEFENDIVE) ทั้งด้าน FOREHAND และ BACKHAND การ จับไม้ก็คงการจับแบบ SHAKEHAND เป็นหลัก ดังนั้นเมื่อส่วนใหญ่จับไม้แบบยุโรป แนวโน้มการจับไม้แบบ PENHOLDER ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปมีน้อยมากในยุโป ในระยะนั้นถือว่ายุโรปเป็นศูนย์รวมของกีฬาปิงปองอย่างแท้จริง
ในปี ค.ศ. 1922 ได้มีบริษัทค้าเครื่องกีฬา ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่า “PINGPONG” ด้วยเหตุนี้กีฬานี้จึงเป็นชื่อมาเป็น “TABLE TENNIS” ไม่สามารถใช้ชื่อที่เขาจดทะเบียนได้ประการหนึ่ง และเพื่อไม่ใช่เป็นการโฆษณาสินค้าอีกประการหนึ่ง และแล้วในปี ค.ศ. 1926 จึงได้มีการประชุมก่อตั้งสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ (INTERNATIONAL TABLETENNIS FEDERATION : ITTF) ขึ้นที่กรุงลอนดอนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1926 ภายหลังจากการได้มีการปรึกษาหารือในขั้นต้นโดย DR. GEORG LEHMANN แห่งประเทศเยอรมัน กรุงเบอร์ลิน เดือนมกราคม ค.ศ. 1926 ในปีนี้เองการแข่งขันเทเบิลเทนนิสแห่งโลกครั้งที่ 1 ก็ได้เริ่มขึ้น พร้อมกับการก่อตั้งสหพันธ์ฯ โดยมีนายอีวอร์ มองตากู เป็นประธานคนแรก ในช่วงปี ค.ศ. 1940 นี้ ยังมีการเล่นและจับไม้พอจำแนกออกเป็น 3 ลักษณะดังนี้
1. การจับไม้ เป็นการจับแบบจับมือ 
2. ไม้ต้องติดยางเม็ด 
3. วิธีการเล่นเป็นวิธีพื้นฐาน คือ การรับเป็นส่วนใหญ่ ยุคนี้ยังจัดได้ว่าเป็น “ยุคของยุโรป” อีกเช่นเคย
ในปี ค.ศ. 1950 จึงเริ่มเป็นยุคของญี่ปุ่นซึ่งแท้จริงมีลักษณะพิเศษประจำดังนี้คือ 
1. การตบลูกแม่นยำและหนักหน่วง 
2. การใช้จังหวะเต้นของปลายเท้า 
ในปี ค.ศ. 1952 ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมการแข่งขันเทเบิลเทนนิสโลกเป็นครั้งแรก ที่กรุงบอมเบย์ ประเทศอินเดีย และต่อมาปี ค.ศ. 1953 สาธารณรัฐประชาชนจีน จึงได้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรกที่กรุงบูคาเรสต์ ประเทศรูมาเนีย จึงนับได้ว่ากีฬาปิงปองเป็นกีฬาระดับโลกที่แท้จริงปีนี้นั่นเอง 
ในยุคนี้ญี่ปุ่นใช้การจับไม้แบบจับปากกา ใช้วิธีการเล่นแบบรุกโจมตีอย่างหนักหน่วงและรุนแรง โดยอาศัยอุปกรณ์เข้าช่วย เป็นยางเม็ดสอดไส้ด้วยฟองน้ำเพิ่มเติมจากยางชนิดเม็ดเดิมที่ใช้กันทั่วโลก 
การเล่นรุกของยุโรปใช้ความแม่นยำและช่วงตีวงสวิงสั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้บ่า ข้อศอก และข้อมือเท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งใช้ปลายเท้าเป็นศูนย์กลางของการตีลูกแบบรุกเป็นการเล่นแบบ “รุกอย่างต่อเนื่อง” ซึ่งวิธีนี้สามารถเอาชนะวิธีการเล่นของยุโรปได้ การเล่นโจมตีแบบนี้เป็นที่เกรงกลัวของชาวยุโรปมาก เปรียบเสมือนการโจมตีแบบ “KAMIKAZE” (การบินโจมตีของฝูงบินหน่วยกล้าตายของญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญในญี่ปุ่นกันว่า การเล่นแบบนี้เป็นการเล่นที่เสี่ยงและกล้าเกินไปจนดูแล้วรู้สึกว่าขาดความรอบคอบอยู่มาก แต่ญี่ปุ่นก็เล่นวิธีนี้ได้ดี โดยอาศัยความสุขุมและ Foot work ที่คล่องแคล่วจนสามารถครองตำแหน่งชนะเลิศถึง 7 ครั้ง โดยมี 5 ครั้งติดต่อกัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953-1959
สำหรับในยุโรปนั้นยังจับไม้แบบ SHAKEHAND และรับอยู่ จึงกล่าวได้ว่าในช่วงแรก ๆ ของปี ค.ศ. 1960 ยังคงเป็นจุดมืดของนักกีฬายุโรปอยู่นั่นเอง
ในปี ค.ศ. 1960 เริ่มเป็นยุคของจีน ซึ่งสามารถเอาชนะญี่ปุ่นได้โดยวิธีการเล่นที่โจมตีแบบรวดเร็ว ผสมผสานกับการป้องกัน ในปี 1961 ได้จัดการแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงชนะเลิศ ครั้งที่ 26 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน จีนเอาชนะญี่ปุ่น ทั้งนี้เพราะญี่ปุ่นยังใช้นักกีฬาที่อายุมาก ส่วนจีนได้ใช้นักกีฬาที่หนุ่มสามารถเล่นได้อย่างรวดเร็วปานสายฟ้าทั้งรุกและรับ การจับไม้ก็เป็นการจับแบบปากกา โดยจีนชนะทั้งประเภทเดี่ยวและทีม 3 ครั้งติดต่อกัน ทั้งนี้เพราะจีนได้ทุ่มเทกับการศึกษาการเล่นของญี่ปุ่นทั้งภาพยนตร์ที่ได้บันทึกไว้และเอกสารต่าง ๆ โดยประยุกต์การเล่นของญี่ปุ่น เข้ากับการเล่นแบบสั้น ๆ แบบที่จีนถนัดกลายเป็นวิธีการเล่นที่กลมกลืนของจีนดังที่เราเห็นในปัจจุบัน 
ยุโรปเริ่มฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยนำวิธีการเล่นของชาวอินเดียมาปรับปรุง นำโดยนักกีฬาชาวสวีเดนและประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีหัวก้าวหน้าไม่มัวแต่แต่คิดจะรักษาหน้าของตัวเองว่าไม่เรียนแบบของชาติอื่นๆ ดังนั้นชายยุโรปจึงเริ่มชนะชายคู่ ในปี 1967 และ 1969 ซึ่งเป็นนักกีฬาจากสวีเดน ในช่วงนั้นการเล่นแบบรุกยังไม่เป็นที่แพร่หลายทั้งนี้เพราะวิธีการเล่นแบบรับได้ฝังรากในยุโรป จนมีการพูดกันว่านักกีฬายุโรปจะเรียนแบบการเล่นลูกยาวแบบญี่ปุ่นนั้นคงจะไม่มีทางสำเร็จแต่การที่นักกีฬาของสวีเดนได้เปลี่ยนวิธีการเล่นแบบญี่ปุ่นได้มีผลสะท้อนต่อการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนรุ่นหลังของยุโรปเป็นอย่างมาก และแล้วในปี 1970 จึงเป็นปีของการประจันหน้าระหว่างผู้เล่นชาวยุโรปและผู้เล่นชาวเอเชีย 
ช่วงระยะเวลาได้ผ่านไปประมาณ 10 ปี ตั้งแต่ 1960-1970 นักกีฬาของญี่ปุ่นได้แก่ตัวลงในขณะที่นักกีฬารุ่นใหม่ของยุโรปได้เริ่มฉายแสงเก่งขึ้น และสามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศชายเดี่ยวของโลกไปครองได้สำเร็จในการแข่งขันเทเบิลเทนนิสเพื่อความชนะเลิศแห่งโลก ครั้งที่ 31 ณ กรุงนาโกน่า ในปี 1971 โดยนักเทเบิลเทนนิส ชาวสวีเดน ชื่อ สเตลัง เบนค์สัน เป็นผู้เปิดศักราชให้กับชาวยุโรป ภายหลังจากที่นักกีฬาชาวยุโรปได้ตกอับไปถึง 18 ปี ในปี 1973 ทีมสวีเดนก็ได้คว้าแชมป์โลกได้จึงทำให้ชาวยุโรปมีความมั่นใจในวิธีการเล่นที่ตนได้ลอกเลียนแบบและปรังปรุงมา ดังนั้นนักกีฬาของยุโรปและนักกีฬาของเอเชียจึงเป็นคู่แข่งที่สำคัญในขณะที่นักกีฬาในกลุ่มชาติอาหรับและลาตินอเมริกา ก็เริ่มแรงขึ้นก้าวหน้ารวดเร็วขึ้น เริ่มมีการให้ความร่วมมือช่วยเหลือทางด้านเทคนิคซึ่งกันและกัน การเล่นแบบตั้งรับซึ่งหมดยุคไปแล้วตั้งแต่ปี 1960 เริ่มจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นมาอีก โดยการใช้ความชำนาญในการเปลี่ยนหน้าไม้ในขณะเล่นลูก หน้าไม้ซึ่งติดด้วยยางปิงปอง ซึ่งมีความยาวของเม็ดยางยาวกว่าปกติ การใช้ยาง ANTI – SPIN เพื่อพยายามเปลี่ยนวิถีการหมุนและทิศทางของลูกเข้าช่วย ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้นี้มีส่วนช่วยอย่างมาก ในขณะนี้กีฬาเทเบิลเทนนิสนับว่าเป็นกีฬาที่แพร่หลายไปทั่วโลก มีวิธีการเล่นใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งผู้เล่นเยาวชนต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนากีฬาเทเบิลเทนนิสต่อไปในอนาคตได้อย่างไม่มีที่วันสิ้นสุด และขณะนี้กีฬานี้ก็ได้เป็นกีฬาประเภทหนึ่งในกีฬาโอลิมปิก โดยเริ่มมีการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกในปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเป็นครั้งแรก 
กติกากีฬาปิงปอง
1. โต๊ะเทเบิลเทนนิส
1.1 พื้นหน้าด้านบนของโต๊ะเรียกว่า “พื้นผิวโต๊ะ” จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีความยาว 2.74 เมตร ( 9 ฟุต) ความกว้าง 1.525 เมตร ( 5 ฟุต) และจะต้องสูงได้ระดับ โดยวัดจากพื้นที่ตั้งขึ้นมาถึงพื้นผิวโต๊ะสูง 76 เซนติเมตร ( 2 ฟุต 6 นิ้ว )
1.2 พื้นผิวโต๊ะให้รวมถึงขอบบนสุดของโต๊ะ แต่ไม่รวมถึงด้านข้างของโต๊ะที่อยู่ต่ำกว่าขอบบนสุดของโต๊ะลงมา
1.3 พื้นผิวโต๊ะอาจทำด้วยวัสดุใดๆ ก็ได้ แต่จะต้องมีความกระดอนสม่ำเสมอ เมื่อเอาลูกเทเบิลเทนนิสมาตรฐานทิ้งลงในระยะสูง 30 เซนติเมตร ลูกจะกระดอนขึ้นมาประมาณ 23 เซนติเมตร
1.4 พื้นผิวโต๊ะจะต้องเป็นสีเข้มสม่ำเสมอและเป็นสีด้านไม่สะท้อนแสง ขอบด้านบนของพื้นผิวโต๊ะทั้ง 4 ด้านจะทางด้วยสีขาว มีความกว้าง 2 เซนติเมตร เส้นของพื้นผิวโต๊ะด้านยาว 2.74 เมตรทั้งสองข้างเรียกว่า “เส้นข้าง” เส้นของพื้นผิวโต๊ะด้านกว้าง 1.525 เมตร ทั้งสองข้างเรียกว่า “เส้นสกัด”
1.5 พื้นผิวโต๊ะจะถูกแบ่งออกเป็นสองแดนเท่าๆ กัน กั้นด้วยเน็ตซึ่งขึงตั้งฉากกับพื้นผิวโต๊ะ และขนานกับเส้นสกัดโดยตลอด
1.6 สำหรับประเภทคู่ ในแต่ละแดนจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กันด้วยเส้นสีขาวขนาดกว้าง 3 มิลลิเมตร โดยขีดขนานกับเส้นข้างเรียกว่า “เส้นกลาง” และให้ถือว่าเส้นกลางนี้เป็นส่วนหนึ่งของคอร์ตด้านขวาของโต๊ะด้วย
1.7 ในการแข่งขันระดับมาตรฐานสากลโต๊ะเทเบิลเทนนิสที่ใช้สำหรับแข่งขันจะต้องเป็นยี่ห้อและชนิดที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติเท่านั้น และในการจัดการแข่งขันจะต้องระบุสีของโต๊ะที่จะใช้แข่งขันลงในระเบียบการแข่งขันด้วยทุกครั้ง
2. ส่วนประกอบของเน็ต
2.1 ส่วนประกอบของเน็ตจะประกอบไปด้วย ตาข่าย ที่แขวนและเสาตั้ง รวมไปถึงที่จับยึดกับโต๊ะเทเบิลเทนนิส
2.2 ตาข่ายจะต้องขึงตึงและยึดด้วยเชือกซึ่งผูกติดปลายยอดเสา ซึ่งตั้งตรงสูงจากพื้นผิวโต๊ะ15.25 เซนติเมตร ( 6 นิ้ว) และยื่นออกไปจากเส้นข้างของโต๊ะถึงตัวเสาต้านละ 15.25 เซนติเมตร ( 6 นิ้ว) 
2.3 ส่วนบนสุดของตาข่ายตลอดแนวยาว จะต้องสูงจากพื้นผิวโต๊ะ 15.25 เซนติเมตร
2.4 ส่วนล่างสุดของตาข่ายตลอดแนวยาวจะต้องอยู่ชิดกับพื้นผิวโต๊ะและส่วนปลายสุดของตาข่ายทั้งสองด้านจะต้องอยู่ชิดกับเสาให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
2.5 ในการแข่งขันระดับมาตรฐานสากล เน็ตที่ใช้สำหรับแข่งขันจะต้องเป็นยี่ห้อและชนิดที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติเท่านั้น และจะต้องเป็นสีเดียวกันกับโต๊ะที่ใช้แข่งขัน
3. ลูกเทเบิลเทนนิส
3.1 ลูกเทเบิลเทนนิสจะต้องกลมและมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 มิลลิเมตร
3.2 ลูกเทเบิลเทนนิสจะต้องมีน้ำหนัก 2.7 กรัม
3.3 ลูกเทเบิลเทนนิสจะต้องทำด้วยเซลลูลอยด์หรือวัสดุพลาสติกอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน มีสีขาว สีเหลือง หรือสีส้ม และเป็นสีด้าน
3.4 ลูกเทเบิลเทนนิสที่ใช้สำหรับแข่งขันจะต้องเป็นยี่ห้อและชนิดที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติเท่านั้น และจะต้องระบุสีของลูกที่จะใช้แข่งขันลงในระเบียบการแข่งขันทุกครั้ง
4. ไม้เทเบิลเทนนิส
4.1 ไม้เทเบิลเทนนิสจะมีรูปร่าง ขนาด หรือน้ำหนักอย่างไรก็ได้ แต่หน้าไม้จะต้องแบนเรียบและแข็ง
4.2 อย่างน้อยที่สุด 85% ของความหนาของไม้ จะต้องทำด้วยไม้ธรรมชาติ ชั้นที่อัดอยู่ติดภายในหน้าไม้ ซึ่งทำด้วยวัสดุอื่นใด เช่น คาร์บอนไฟเบอร์ , กลาสไฟเบอร์ หรือกระดาษอัดจะต้องมีความหนาไม่เกิน 7.5 % ของความหนาทั้งหน้าไม้หรือไม่เกิน 0.35 มิลลิเมตร สุดแท้แต่กรณีใดจะมีค่าน้อยกว่า
4.3 หน้าไม้เทเบิลเทนนิสด้านที่ใช้ในการตีลูกจะต้องมีวัสดุปิดทับ วัสดุนั้นจะเป็นยางเม็ดธรรมดาแผ่นเดียวกัน โดยหันเอาเม็ดออกมาด้านนอกและไม่มีฟองน้ำรองรับ แผ่นยางชนิดนี้เมื่อปิดทับหน้าไม้และรวมกับกาวแล้วจะต้องมีความหน้าทั้งสิ้นไม่เกิน 2 มิลลิเมตร หรือแผ่นยางแผ่นเดียวกันชนิดมีฟองน้ำรองรับโดยจะหันเอาเม็ดอยู่ด้านในหรือเอาเม็ดอยู่ด้านนอกก็ได้ยางชนิดนี้เมื่อปิดทับหน้าไม้และรวมกับกาวแล้วจะต้องมีความหนาทั้งสิ้นไม่เกิน 4 มิลลิเมตร
4.3.1) แผ่นยางเม็ดธรรมดา จะต้องเป็นชิ้นเดียวและไม่มีฟองน้ำรองรับจะทำด้วยยางหรือยางสังเคราะห์ มีเม็ดกระจายอยู่อย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่า 10 เม็ดต่อ 1 ตารางเซนติเมตร และไม่มากกว่า 50เม็ดต่อ 1 ตารางเซนติเมตร
4.3.2) แผ่นยางชนิดมีฟองน้ำ ประกอบด้วยฟองน้ำชิ้นเดียวปิดคลุมด้วยแผ่นยางเม็ดธรรมดาชิ้นเดียวซึ่งความหนาของแผ่นยางธรรมดานี้จะต้องมีความหนาไม่เกิน 4 มิลลิเมตร
4.4 วัสดุปิดทับหน้าไม้จะต้องปิดทับคลุมหน้าไม้ด้านนั้นๆ และจะต้องไม่เกินขอบของหน้าไม้ออกไป ยกเว้นส่วนที่ใกล้กับด้ามจับที่สุดและที่วางนิ้วอาจจะหุ้มหรือไม่หุ้มด้วยวัสดุใดๆก็ได้ ซึ่งอาจจะถูกพิจารณาว่า เป็นส่วนหนึ่งของด้ามจับ
4.5 หน้าไม้เทเบิลเทนนิส ชั้นภายในหน้าไม้และชั้นของวัสดุปิดทับต่างๆ หรือกาวจะต้องสม่ำเสมอและมีความหนาเท่ากันตลอด
4.6 หน้าไม้เทเบิลเทนนิสด้านหนึ่งจะต้องเป็นสีแดงสว่าง และอีกด้านหนึ่งจะต้องเป็นสีดำ โดยไม่คำนึงว่าหน้าไม้นั้นจะใช้ตีลูกเทเบิลเทนนิสหรือไม่ และจะ ต้องมีสีกลมกลืนอย่างสม่ำเสมอไม่สะท้อนแสง ตามขอบของไม้เทเบิลเทนนิสจะต้องไม่เป็นสีสะท้อนแสงหรือมีส่วนหนึ่งส่วนใดเป็นสีขาว
4.7 วัสดุที่ปิดทับหน้าไม้สำหรับตีลูกเทเบิลเทนนิสจะต้องมีเครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ ผู้ผลิต ยี่ห้อ รุ่น และเครื่องหมาย ITTF แสดงไว้อย่างชัดเจน ใกล้กับขอบของหน้าไม้ โดยจะต้องเป็นชื่อยี่ห้อและชนิด ที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ ครั้งหลังสุดเท่านั้น
4.8 สำหรับกาวที่มีส่วนประกอบของสารพิษจะไม่อนุญาตให้ใช้ทาลงบนหน้าไม้เทเบิลเทนนิส ผู้เล่นจะต้องใช้กาวแผ่นสำเร็จรูปหรือกาวที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติเท่านั้น
4.9 การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยของความสม่ำเสมอของผิวหน้าไม้หรือวัสดุปิดทับหรือความไม่สม่ำเสมอของสีหรือขนาด เนื่องจากการเสียหายจากอุบัติเหตุ การใช้งานหรือสีจาง อาจจะอนุญาตให้ใช้ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าเหตุเหล่านั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญต่อคุณลักษณะของผิวหน้าไม้หรือผิววัสดุปิดทับ
4.10 เมื่อเริ่มการแข่งขันและเมื่อใดก็ตามที่ผู้เล่นเปลี่ยนไม้เทเบิลเทนนิสระหว่างการแข่งขันผู้เล่นจะต้องแสดงไม้เทเบิลเทนนิสที่เขาเปลี่ยนให้กับคู่แข่งขันและกรรมการผู้ตัดสินตรวจสอบก่อนทุกครั้ง
4.11 เป็นความรับผิดชอบของผู้เล่นที่จะต้องมั่นใจว่าไม้เทเบิลเทนนิสนั้นถูกต้องตามระเบียบและกติกา
4.12 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์การเล่นให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้ชี้ขาด
5. คำจำกัดความ
5.1 การตีโต้ หมายถึง ระยะเวลาที่ลูกอยู่ในการเล่น
5.2 ลูกอยู่ในการเล่น หมายถึง เมื่อลูกเทเบิลเทนนิสได้หยุดนิ่งบนฝ่ามืออิสระก่อนการส่งลูกในจังหวะสุดท้าย จนกระทั่งลูกนั้นถูกสั่งให้เป็นเล็ทหรือได้คะแนน
5.3 การส่งใหม่ ( LET ) หมายถึง การตีโต้ที่ไม่มีผลได้คะแนน
5.4 การได้คะแนน หมายถึง การตีโต้ที่มีผลได้คะแนน
5.5 มือที่ถือไม้ หมายถึง มือในขณะที่ถือไม้เทเบิลเทนนิส
5.6 มืออิสระ หมายถึง มือในขณะที่ไม่ได้ถือไม้เทเบิลเทนนิส
5.7 การตีลูก หมายถึง การที่ผู้เล่นสัมผัสลูกด้วยไม้เทเบิลเทนนิสขณะที่ถืออยู่หรือสัมผัสลูกตั้งแต่ข้อมือของมือในขณะที่ถือไม้ลงไป
5.8 การขวางลูก หมายถึง ขณะที่ลูกกำลังอยู่ในการเล่น และฝ่ายตรงข้ามตีลูกมาโดยลูกนั้นยังไม่ได้กระทบแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง ปรากฏว่าผู้เล่นหรือสิ่งใดๆ ที่เขาสวมใส่หรือถึออยู่ของผู้เล่นฝ่ายนั้นได้สัมผัสถูกลูกขณะที่ลูกนั้นยังไม่ผ่านพื้นผิวโต๊ะและยังไม่พ้นเส้นสกัดหรือผ่านพื้นผิวโต๊ะแล้ว แต่ลูกนั้นยังอยู่ในพื้นที่บนโต๊ะ
5.9 ผู้ส่ง หมายถึง ผู้ที่ตีลูกเทเบิลเทนนิสเป็นครั้งแรกในการตีโต้
5.10 ผู้รับ หมายถึง ผู้ที่ตีลูกเทเบิลเทนนิสเป็นครั้งที่สองในการตีโต้
5.11 ผู้ตัดสิน หมายถึง ผู้ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อควบคุมการแข่งขัน
5.12 ผู้ช่วยผู้ตัดสิน หมายถึง ผู้ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อช่วยผู้ตัดสินในการตัดสิน
5.13 สิ่งใดๆ ที่ผู้เล่นสวมใส่หรือถืออยู่ หมายถึง สิ่งใดๆ ก็ตามที่ผู้เล่นสวมใส่หรือถืออยู่ตั้งแต่เริ่มการตีโต้
5.14 ลูกเทเบิลเทนนิสจะถูกพิจารณาว่าผ่านข้ามหรืออ้อมหรือลอดส่วนประกอบของเน็ต ถ้าลูกนั้นได้ข้ามผ่านเน็ตไปแล้วและกระดอนกลับด้วยแรงหมุนของมันเอง หรือผ่านด้านข้างหรือด้านใต้ของส่วนประกอบของเน็ตด้านนอกโต๊ะ
5.15 เส้นสกัด หมายรวมถึง เส้นสมมุติที่ลากต่อออกไปจากเส้นสกัดทั้งสองด้านด้วย
6. การส่งลูกที่ถูกต้อง
6.1 เมื่อเริ่มส่งลูก ลูกเทเบิลเทนนิสต้องวางเป็นอิสระอยู่บนฝ่ามือของมืออิสระ โดยแบบฝ่ามือออกและลูกต้องหยุดนิ่ง โดยลูกนั้นต้องอยู่หลังเส้นสกัดและอยู่เหนือระดับพื้นผิวโต๊ะ
6.2 ในการส่งลูก ผู้ส่งจะต้องโยนลูกขึ้นข้างบนด้วยมือให้ใกล้เคียงกับเส้นตั้งฉากและให้สูงจากจุดที่ลูกออกจากฝ่ามือไม่น้อยกว่า 16 เซนติเมตร โดยลูกที่โยนขึ้นไปนั้นจะต้องไม่เป็นลูกที่ถูกทำให้หมุนด้วยความตั้งใจ
6.3 ผู้ส่งจะตีลูกได้ขณะที่ลูกเทเบิลเทนนิสได้ลดระดับลงจากจุดสูงสุดแล้ว เพื่อให้ลูกกระทบแดนของผู้ส่งก่อนแล้วข้ามหรืออ้อมตาข่ายไปกระทบแดนของฝ่ายรับ สำหรับประเภทคู่ ลูกเทเบิลเทนนิสจะต้องกระทบครึ่งแดนขวาของผู้ส่งก่อนแล้วข้ามตาข่ายไปกระทบครึ่งแดนขวาของฝ่ายรับ
6.4 ทั้งลูกเทเบิลเทนนิสและไม้เทเบิลเทนนิสจะต้องอยู่เหรือพื้นผิวโต๊ะตลอดเวลาที่เริ่มทำการส่งลูกจนกระทั่งไม้ได้กระทบลูกแล้ว
6.5 ในการส่งลูก ขณะที่ลูกกระทบหน้าไม้จะต้องอยู่นอกเส้นสกัดทางด้านผู้ส่งหรือนอกอาณาเขตเส้นสมมุติที่ต่อออกไปจากเส้นสกัด และต้องไม่เลยส่วนที่ไกลที่สุดของลำตัวออกไปทางด้านหลังโดยวัดจากเส้นสกัด ยกเว้น แขน ศรีษะ หรือขา
6.6 เป็นความรับผิดชอบของเล่นที่จะต้องส่งลูกให้ผู้ตัดสินหรือผู้ช่วยผู้ตัดสินเห็น และตรวจสอบถึงการส่งลูกนั้นว่าถูกต้องตามกติกาหรือไม่
6.6.1) ถ้าผู้ตัดสินสงสัยในลักษณะการส่งลูก แต่ทั้งเขาและผู้ช่วยผู้ตัดสินไม่มั่นใจว่าผู้ส่งได้ส่งลูกถูกตามกติกา ในโอกาสแรกของแมทซ์นั้นจะเตือนผู้ส่งโดยยังไม่ได้ตัดคะแนน
6.6.2) สำหรับในครั้งต่อไปในแมทซ์เดียวกันนั้น หากผู้ส่งคนเดิมยังคงส่งลูกที่เป็นข้อสงสัยในทำนองเดียวกัน หรือลักษณะน่าสงสัยอื่นๆ อีก ผู้ส่งจะเสียคะแนนทันทีโดยไม่มีการเตือน
6.6.3) หากผู้ส่งได้ส่งลูกผิดกติกาอย่างชัดเจน ผู้ส่งจะเสียคะแนนทันทีโดยไม่มีการเตือน
6.7 ผู้ส่งลูกอาจได้รับการอนุโลมได้บ้าง หากผู้ส่งคนนั้นแจ้งให้ผู้ตัดสินทราบถึงการหย่อนสมรรถภาพทางร่างกาย จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถส่งลูกได้ถูกต้องตามกติกา ทั้งนี้ต้องแจ้งให้ผู้ตัดสินทราบก่อนการแข่งขันทุกครั้ง
7. การรับที่ถูกต้อง
7.1 เมื่อลูกเทเบิลเทนนิสได้ถูกส่งหรือตีโต้ไปตกลงในแดนฝ่ายครงข้ามถูกต้องแล้ว ฝ่ายรับตีลูกข้ามหรืออ้อมตาข่ายกลับไปเพื่อให้ลูกกระทบอีกแดนหนึ่งโดยตรง หรือสัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งของเน็ตแล้วตกลงในแดนฝ่ายตรงข้าม
8. ลำดับการเล่น
8.1 ประเภทเดี่ยว ฝ่ายส่งได้ส่งลูกอย่างถูกต้อง ฝ่ายรับจะตีโต้กลับไป หลังจากนั้นฝ่ายส่งและฝ่ายรับจะผลัดกันตีโต้
8.2 ประเภทคู่ ผู้ส่งลูกของฝ่ายส่งจะส่งลูกไปยังฝ่ายรับ ผู้รับของฝ่ายรับจะต้องตีลูกกลับแล้วคู่ของฝ่ายส่งจะตีลูกกลับไป จากนั้นคู่ของฝ่ายรับก็จะตีลูกกลับไปเช่นนี้สลับกันในการโต้ลูก
9. ลูกที่ให้ส่งใหม่ LET
9.1 การตีโต้ซึ่งถือให้เป็นการส่งใหม่ จะต้องมีลักษณะดังนี้
9.1.1) ถ้าลูกที่ฝ่ายส่งได้ส่งไปกระทบส่วนต่างๆ ของเน็ต แล้วข้ามไปในแดนของฝ่ายรับโดยถูกต้อง หรือส่งไปกระทบส่วนต่างๆ ของเน็ตแล้วผู้รับหรือคู่ฝ่ายรับขวางลูกหรือตีลูกก่อนที่ลูกจะตกกระทบแดนของเขาในเส้นสกัด
9.1.2) ในความเห็นของผู้ตัดสิน ถ้าลูกที่ส่งออกไปแล้ว ฝ่ายรับหรือคู่ของฝ่ายรับยังไม่พร้อมที่จะรับ โดยมีข้อแม้ว่า ฝ่ายรับหรือคู่ของฝ่ายรับไม่พยายามตีลูก
9.1.3) ในความเห็นของผู้ตัดสิน หากมีเหตุรบกวนนอกเหนือการควบคุมของผู้เล่นจนทำให้การส่ง การรับ หรือการเล่นนั้นเสียไป
9.1.4) ถ้าการเล่นถูกยุติโดยผู้ตัดสินหรือผู้ช่วยผู้ตัดสิน
9.1.5) ในประเภทคู่ ถ้าผู้เล่นส่งลูกหรือรับลูกส่งผิดลำดับ
9.2 การเล่นอาจถูกยุติลงในกรณีต่อไปนี้
9.2.1) เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดในลำดับการส่งลูก การรับลูกหรือการเปลี่ยนแดน
9.2.2) เมื่อการแข่งขันได้ถูกกำหนดให้ใช้ระบบการแข่งขันแบบเร่งเวลา
9.2.3) เพื่อเตือนหรือลงโทษผู้เล่น
9.2.4) ในความเห็นของผู้ตัดสิน หากเห็นว่าสภาพการเล่นถูกรบกวนอันจะเป็นผลต่อการเล่น
10. ได้คะแนน
10.1 นอกเหนือจากการตีโต้จะถูกสั่งให้เป็นเล็ท LET ผู้เล่นจะได้คะแนนจากกรณีดังต่อไปนี้
10.1.1) ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถส่งลูกได้อย่างถูกต้อง
10.1.2) ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถรับลูกได้อย่างถูกต้อง
10.1.3) ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามตีลูก สัมผัสถูกสิ่งใดๆ นอกเหนือจากส่วนประกอบของเน็ต
10.1.4) ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามตีลูกข้ามผ่านเส้นสกัดของเขาโดยไม่ได้สัมผัสกับพื้นผิวโต๊ะ
10.1.5) ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามขวางลูก
10.1.6) ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามตีลูกติดต่อกันสองครั้ง
10.1.7) ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามตีลูกด้วยหน้าไม้ที่ไม่ถูกต้องตามกติกา
10.1.8) ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามหรือสิ่งใดๆ ที่ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามสวมใส่หรือถืออยู่ทำให้พื้นผิวโต๊ะเคลื่อนที่
10.1.9) ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามหรือสิ่งใดๆ ที่ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามสวมใส่หรือถืออยู่สัมผัสถูกส่วนต่างๆ ของเน็ต
10.1.10) ถ้ามืออิสระของผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามสัมผัสถูกพื้นผิวโต๊ะ
10.1.11) ในประเภทคู่ ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามตีลูกผิดลำดับ
10.1.12) ในระบบการแข่งขันแบบเร่งเวลา ถ้าเขาหรือคู่ของเขาสามารถตีโต้กลับไปได้อย่างถูกต้องครบ 13 ครั้ง
11. เกมการแข่งขัน
11.1 ผู้เล่นหรือคู่เล่นที่ทำคะแนนได้ 11 คะแนนก่อน จะเป็นฝ่ายชนะ ยกเว้นถ้าผู้เล่นทั้งสองฝ่ายทำคะแนนได้ 10 คะแนนเท่ากันจะต้องเล่นต่อไป โดยฝ่ายใดทำคะแนนได้มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง 2 คะแนน จะเป็นฝ่ายชนะ
12. แมทซ์การแข่งขัน
12.1 ในหนึ่งแมทซ์ประกอบด้วยผู้ชนะ 3 ใน 5 เกม หรือ 4 ใน 7 เกม
12.2 การแข่งขันจะต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นผู้เล่นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายขอสิทธิในการหยุดพักระหว่างจบเกม ซึ่งการพักระหว่างจบเกมจะพักได้ไม่เกิน 1 นาที
13. ลำดับการส่ง การรับ และแดน
13.1สิทธิในการเลือกเสริฟ เลือกรับ และเลือกแดน จะใช้วิธีการเสี่ยงทาย โดยผู้ชนะในการเสี่ยงต้องเลือกเสริฟ หรือ เลือกรับก่อน หรือเลือกแดน
13.2 เมื่อผู้เล่นหรือคู่ของผู้เล่นได้เลือกอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ผู้เล่นหรือคู่เล่นอีกฝ่ายหนึ่งจะเป็นฝ่ายเลือกในหัวข้อที่เหลืออยู่
13.3 เมื่อผู้ส่งได้ส่งลูกครบ 2 ครั้ง ฝ่ายรับจะกลายเป็นผู้ส่งบ้าง จากนั้นทั้งสองฝ่ายจะผลัดกันส่งลูกฝ่ายละ 2 ครั้ง จนกระทั่งจบเกมการแข่งขัน หรือจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายทำคะแนนได้ 10 คะแนนเท่ากัน หรือเมื่อนำระบบการแข่งขันแบบเร่งเวลามาใช้ การส่งจะผลัดกันส่งฝ่ายละ 1 ครั้ง
13.4 ในเกมแรกของประเภทคู่ ฝ่ายซึ่งมีสิทธิ์ในการส่งลูกก่อนจะต้องเลือกว่าใครจะเป็นผู้ส่งก่อน จากนั้นฝ่ายรับจะเลือกผู้ที่จะเป็นผู้รับ สำหรับในเกมถัดไปของแมทซ์นั้นฝ่ายส่งในเกมส์นั้นจะเป็นผู้เลือกส่งก่อนบ้าง โดยส่งให้กับผู้ที่ส่งให้เขาในเกมก่อนหน้านั้นเอง
13.5 ในประเภทคู่ ลำดับการเปลี่ยนส่งคือ เมื่อผู้ส่งได้ส่งลูกครบ 2 ครั้งแล้ว ผู้รับจะกลายเป็นผู้ส่งบ้าง โดยส่งให้กับคู่ของผู้ที่ส่งลูกให้เขา
13.6 ผู้เล่นหรือคู่เล่นที่เป็นฝ่ายส่งลูกก่อนในเกมแรกจะเป็นฝ่ายรับลูกก่อนในเกมต่อไป สลับกันจนจบแมทซ์ และในเกมสุดท้ายของประเภทคู่ ฝ่ายรับจะต้องเปลี่ยนเป็นผู้รับทันทีเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคะแนนได้ 6 คะแนน
13.7 ผู้เล่นหรือคู่เล่นจะต้องเปลี่ยนแดนทันที เมื่อการแข่งขันในแต่ละเกมสิ้นสุดลง สลับกันจนจบแมทซ์และในการแข่งขันเกมสุดท้ายผู้เล่นจะต้องเปลี่ยนแดนทันทีเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคะแนนได้ 6 คะแนน
14. การผิดลำดับในการส่ง การรับ และแดน
14.1 ถ้าผู้เล่นส่งหรือรับลูกผิดลำดับ กรรมการผู้ตัดสินจะยุติการเล่นทันทีที่ได้ค้นพบข้อผิดพลาดและทำการเริ่มเล่นใหม่ โดยผู้เล่นและผู้รับที่ควรจะเป็นผู้ส่งและผู้รับตามลำดับที่ได้จัดไว้ตั้งแต่เริ่มการแข่งขันของแมทซ์นั้นต่อจากคะแนนที่ทำได้ สำหรับในประเภทคู่หากไม่สามารถทราบถึงผู้ส่งและผู้รับที่ถูกต้อง ลำดับในการส่งจะถูกจัดให้ถูกต้อง โดยคู่ที่มีสิทธิ์ส่งในครั้งแรกของเกมที่ค้นพบข้อผิดพลาดนั้น
14.2 ถ้าผู้เล่นไม่ได้เปลี่ยนแดนกันเมื่อถึงคราวต้องเปลี่ยนแดน กรรมการผู้ตัดสินจะยุติการเล่นทันทีที่ทราบ และจะเริ่มเล่นใหม่โดยเปลี่ยนแดนกันให้ถูกต้องตามลำดับที่จัดไว้ตั้งแต่เริ่มการแข่งขันของแมทซ์นั้นต่อจากคะแนนที่ได้
14.3 กรณีใดๆ ก็ตาม คะแนนทั้งหมดซึ่งที่ทำไว้ก่อนที่จะค้นพบข้อผิดพลาดให้ถือว่าใช้ได้
15. ระบบการแข่งขันเร่งเวลา
15.1 ระบบการแข่งเร่งเวลาจะถูกนำมาใช้ถ้าเกมการแข่งขันในเกมนั้นไม่เสร็จสิ้นภายในเวลา 10 นาที ยกเว้นในกรณีที่ผู้เล่นหรือคู่เล่นทั้งสองฝ่ายมีคะแนนไม่น้อยกว่า 9 คะแนน จะแข่งขันตามระบบเดิมหรือจะใช้ระบบการแข่งขันเร่งเวลาก่อนครบกำหนดเวลาก็ได้ ถ้าผู้เล่นหรือคู่เล่นทั้งสองฝ่ายต้องการ
15.1.1) ถ้าลูกอยู่ในระหว่างการเล่น และครบกำหนดเวลาแข่งขันพอดี การเล่นนั้นจะถูกยุติลงโดยกรรมการผู้ตัดสินและจะเริ่มเล่นใหม่ด้วยการส่งลูก โดยผู้เล่นซึ่งเป็นผู้ส่งลูกอยู่ก่อนที่การตีโต้นั้นถูกยุติลง
15.1.2) ถ้าลูกไม่ได้อยู่ในระหว่างการเล่น และครบกำหนดเวลาแข่งขันพอดี การเล่นนั้นจะเริ่มเล่นใหม่ด้วยการส่งลูก โดยผู้เล่นที่เป็นฝ่ายรับลูกอยู่ก่อนที่เวลานั้นจะสิ้นสุดลง
15.2 หลังจากนั้น ผู้เล่นแต่ละคนจะเปลี่ยนกันส่งลูกคนละครั้ง จนกระทั่งจบเกมการแข่งขันและในการตีโต้หากผู้รับหรือคู่เล่นฝ่ายรับสามารถตีโต้กลับมาอย่างถูกต้องครบ 13 ครั้ง ฝ่ายส่งจะเสีย 1 คะแนน
15.3 เมื่อระบบการแข่งขันเร่งเวลานำมาใช้ในเกมใดแล้ว ในเกมที่เหลือของแมทซ์นั้นๆ ให้ใช้ปฎิบัติต่อไปจนกระทั่งจบแมทซ์นั้น
16. เครื่องแต่งกาย
16.1 เสื้อผ้าที่ใช้แข่งขัน ปกติจะประกอบไปด้วยเสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้นหรือกระโปรง ถุงเท้าและรองเท้าแข่งขัน ส่วนเสื้อผ้าชนิดอื่นๆ เช่น บางส่วนหรือทั้งหมดของชุดวอร์ม จะไม่อนุญาตให้ใส่ในระหว่างแข่งขัน ยกเว้นได้รับอนุญาตจาผู้ชี้ขาด สำหรับในการแข่งขันระดับภายในประเทศให้ผู้เข้าแข่งขันสอดชายเสื้อไว้ในกางเกงหรือกระโปรงทุกครั้ง และเสื้อแข่งขันจะต้องมีปกเท่านั้น
16.2 นอกจากแขนเสื้อและปกของเสื้อแข่งขันแล้ว สีส่วนใหญ่ของเสื้อแข่งขัน กางเกง หรือกระโปรง จะต้องเป็นสีที่แตกต่างกันกับลูกเทเบิลเทนนิสที่ใช้ในการแข่งขันอย่างชัดเจน
16.3 บนเสื้อแข่งขันอาจมีเครื่องหมายใดๆ ได้ดังนี้
16.3.1) เครื่องหมายหรือตัวอักษรที่แสดงสังกัดสโมสรที่มิใช่เป็นการโฆษณาบนด้านหน้า หรือด้านข้างของเสื้อแข่งขัน บรรจุในพื้นที่ได้ไม่เกิน 64 ตารางเซ็นติเมตร
16.3.2) ด้านหลังของเสื้อแข่งขัน อาจมีหมายเลขหรือตัวอักษรแสดงสังกัดหรือแสดงถึงแมทซ์การแข่งขัน
16.3.3) เสื้อผ้าอาจสามารถโฆษณาในขนาดที่กำหนพดไว้ตามข้อ 18.6
16.4) หมายเลขประจำตัวของผู้เล่นที่ติดบนหลังเสื้อจะต้องอยู่ตรงกลางของหลังเสื้อ โดยมีขนาดใหญ่ได้ไม่เกิน 600 ตา-รางเซ็นติเมตร และมีความเด่นชัดเหนือโฆษณา
16.5 การทำเครื่องหมายหรือการเดินเส้นใดๆ บนด้านหน้าหรือด้านข้างของเสื้อผ้าหรือวัสดุใดๆ เช่น เครื่องประดับที่สวมใส่จะต้องไม่จับตาหรือสะท้อนแสงไปยังสายตาของฝ่ายตรงข้าม
16.6 รูปแบบของเสื้อผ้า ชุดแข่งขัน ตัวอักษรหรือการออกแบบใดๆ จะต้องเป็นรูปแบบที่เรียบร้อยไม่ทำให้เกมนั้นเสื่อมเสีย
16.7 สำหรับปัญหาใดๆ ที่เกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับของชุดแข่งขัน ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้ชี้ขาด
16.8 ในการแข่งขันประเภททีมและในการแข่งขันประเภทคู่ นักกีฬาที่มาจากสังกัดเดียวกันจะต้องแต่งกายให้มีสีและรูปแบบที่เหมือนกันเท่าที่จะเป็นไปได้ ยกเว้นถุงเท้าและรองเท้า
16.9 ในการแข่งขันระดับนานาชาติ นักกีฬาทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องแต่งกายด้วยสีที่แตกต่างกันเพื่อง่ายต่อการสังเกตของผู้ชม
16.10 หากผู้เล่นหรือทีมไม่สามารถตกลงกันได้ในกรณีชุดแข่งขันที่เหมือนกัน จะใช้วิธีการจับฉลาก
17. สภาพของสนามแข่งขัน
17.1 มาตรฐานของพื้นที่แข่งขันจะต้องมีความยาวไม่น้อยกว่า 14 เมตร กว้างไม่น้อยกว่า 7 เมตร และสูงไม่น้อยกว่า 4 เมตร
17.2 พื้นที่การแข่งขันจะถูกล้อมไว้โดยรอบ ซึ่งที่ปิดล้อมหรือแผงกั้น จะมีขนาดสูงประมาณ 75 เซนติเมตร แยกพื้นที่การแข่งขันออกจากผู้ชม โดยแผงกั้นทั้งหมดจะต้องมีสีพื้นเดียวกันและมีสีเข้ม
17.3 ในกาแข่งขันระดับโลกหรือโอลิมปิค ควาสว่างอขงแสงเมื่อวัดจากพื้นผิดโต๊ะแล้วจะต้องมีความเข้มของแสงโดยสม่ำเสมอไม่น้อยกว่า 1000 ลักซ์ และแสงสว่างในส่วนอื่นๆ ของพื้นที่สนามแข่งขันจะต้องมีความเข้มของแสงไม่น้อยกว่า 500 ลักซ์ สำหรับการแข่งขันระดับอื่นๆ ความสว่างบนพื้นผิดโต๊ะจะต้องไม่น้อยกว่า 600 ลักซ์ และพื้นที่สนามแข่งขันไม่น้อยกว่า 400 ลักซ์
17.4 แหล่งกำเนิดแสงสว่างจะต้องอยู่สูงกว่าพื้นสนามไม่น้อยกว่า 4 เมตร
17.5 ฉากหลังโดยทั่วๆ ไป จะต้องมืด ไม่มีแสงสว่างจากแหล่งกำเนิดไฟอื่นหรือแสงจากธรรมชาติผ่านเข้ามาตราช่อง
หรือหน้าต่าง
17.6 พื้นสนามแข่งขันจะต้องไม่เป็นสีสว่างหรือสะท้อนแสง และจะต้องไม่เป็นอิฐ คอนกรีต หรือหิน สำหรับการแข่งขันระดับโลกหรือระดับโอลิมปิค พื้นสนามแข่งขันจะต้องเป็นไม้หรือวัสดุยางสังเคราะห์ที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ ITTF เท่านั้น
18. การโฆษณา
18.1 การโฆษณาภายในพื้นที่การแข่งขันสามารถทำได้เฉพาะบนอุปกรณ์การแข่งขันโดยไม่มีการต่อเติมออกมาเป็นพิเศษ
18.2 การโฆษณาภายในพื้นที่แข่งขันต้องไม่ใช้หลอดนีออนหรือแสงสว่างสีต่างๆ
18.3 ตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ภายในที่ปิดล้อมหรือแผงกั้นลูกจะต้องไม่เป็นสีขาวหรือสีเหลือง และจะต้องมีสีไม่มากกว่า 2 สี โดยมีความสูงไม่เกิน 40 เซนติเมตร
18.4 การโฆษณาบนโต๊ะแข่งขัน อนุญาตให้เฉพาะด้านข้างและด้านหลังตรงขอบโต๊ะเท่านั้น ซึ่งแต่ละโฆษณาจะมีขนาดใหญ่ได้ไม่เกิน 200 ตารางเซ็นติเมตร สำหรับการโฆษณาที่ติดเป็นการถาวรจะติดได้เฉพาะเครื่องหมายการค้า สัญลักษณ์ หรือชื่อของชนิด และรุ่น เท่านั้น คณะกรรมการจัดการแข่งขันอาจจะติดโฆษณาชั่วคราวได้บนขอบโต๊ะด้านหลังและขอบโต๊ะด้านข้างแต่ละด้านๆ ละ 1 ชิ้น
18.5 การโฆษณาบนเก้าอี้หรือโต๊ะผู้ตัดสินหรือบนเครื่องใช้อื่นๆ ภายในพื้นที่การแข่งขันจะต้องมีขนาดใหญ่ไม่เกิน 750 ตารางเซ็นติเมตร
18.6 การโฆษณาบนเสื้อผ้าของผู้เล่น มีข้อจำกัดดังนี้
18.6.1) สัญลักษณ์หรือชื่อ เครื่องหมายการค้า จะมีขนาดใหญ่ได้ไม่เกิน 24 ตารางเซนติเมตร
18.6.2) บนเสื้อแข่งขันสามารถมีการโฆษณาได้ไม่เกิน 3 ชิ้น โดยจะต้องแยกจากกันอย่างชัดเจนบนด้านหน้าหรือด้านข้างของเสื้อแข่งขัน ซึ่งการโฆษณาจะมีพื้นที่รวมกันแล้วไม่เกิน 160 ตารางเซนติเมตร
18.6.3) บนกางเกงหรือกระโปรงแข่งขันสามารถมีโฆษณาได้ไม่เกิน 2 ชิ้น โดยจะต้องแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ซึ่งการโฆษณาจะมีพื้นที่รวมกันไม่เกิน 80 ตารางเซนติเมตร
18.6.4) ด้านหลังของเสื้อแข่งขัน สามารถมีโฆษณาได้ไม่เกิน 1 ชิ้น และมีขนาดใหญ่ได้ไม่เกิน 200 ตารางเซนติเมตร
18.7 การโฆษณาบนหมายเลขที่ติดบนด้านหลังของผู้เล่น จะมีขนาดใหญ่ได้ไม่เกิน 100 ตารางเซนติเมตร
18.8 การโฆษณาบนเสื้อผ้าของกรรมการผู้ตัดสิน จะมีขนาดใหญ่ได้ไม่เกิน 40 ตารางเซนติเมตร
18.9 ในการแข่งขันระดับนานาชาติ บนผู้เล่นจะต้องไม่มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์บุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือยาที่ เป็นอันตราย
19. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการตัดสิน
19.1 ผู้ชี้ขาด
19.1.1) ผู้ชี้ขาดจะต้องถูกแต่งตั้งขึ้นในการแข่งขันแต่ละครั้งเพื่อควบคุมการแข่งขัน โดยชื่อและที่ติดต่อจะต้องเป็นที่ทราบแก่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันหรือหัวหน้าทีมต่างๆ พอสมควร
19.1.2) ผู้ชี้ขาดมีหน้าที่รับผิดชอบดังนี้
19.1.2.1 มีหน้าที่เกี่ยวกับการจับฉลากแบ่งสาย
19.1.2.2 จัดทำตารางและกำหนดโต๊ะแข่งขัน
19.1.2.3 แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในการแข่งขัน เช่น ผู้ตัดสิน ผู้ช่วยผู้ตัดสิน ฯลฯ
19.1.2.4 ตัดสินปัญหาในเรื่องของการตีความตามกติกาหรือข้อบังคับต่างๆ รวมไปถึงข้อบังคับเกี่ยวกับเสื้อผ้า อุปกรณ์การแข่งขันและสภาพของสนามแข่งขัน
19.1.2.5 ตัดสินว่าผู้เล่นจะสวมชุดวอร์มลงแข่งขันได้หรือไม่
19.1.2.6 ตัดสินว่าจะยุติการเล่นเป็นการฉุกเฉินได้หรือไม่
19.1.2.7 ตัดสินว่าผู้เล่นจะออกนอกพื้นที่การแข่งขันในระหว่างการแข่งขันได้หรือไม่
19.1.2.8 ตัดสินว่าผู้เล่นจะฝึกซ้อมได้เกินตามเวลาตามที่กำหนดไว้ ได้หรือไม่
19.1.2.9 มีหน้าที่ที่จะใช้มาตรการลงโทษสำหรับผู้ที่ประพฤติผิดมารยาทหรือละเมิดข้อบังคับอื่นๆ 
19.1.2.10 มีหน้าที่ตรวจสอนคุณสมบัติของผู้เล่นให้เป็นไปตามระเบียบการแข่งขัน
19.1.2.11 ตัดสินว่าจะให้ผู้เล่นฝึกซ้อมที่ใดขณะยุติการเล่นฉุกเฉิน
19.1.2.12 มีหน้าที่ในการอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ตัดสิน ฯลฯ
19.1.3) หากหน้าที่ต่างๆ ที่กล่าวมา คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้มอบหมายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งทำหน้าที่แทน หน้าที่ ชื่อและที่ติดต่อของบุคคลนั้นจะต้องเป็นทราบแก่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันหรือหัวหน้าทีมต่างๆ ตามสมควร
19.1.4) ผู้ชี้ขาดหรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบรองลงไป จะต้องอยู่ ณ ที่แข่งขันตลอดเวลาการแข่งขัน
19.1.5) ผู้ชี้ขาดสามารถที่จะลงทำหน้าที่แทนผู้ตัดสิน ผู้ช่วยผู้ตัดสิน หรือเจ้าหน้าที่นับครั้งได้ทุกโอกาส แต่จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำตัดสินของผู้ตัดสินหรือผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ได้ตัดสินไปแล้วในปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับข้อเท็จจริง
19.2 ผู้ตัดสิน
19.2.1) ผู้ตัดสินจะถูกแต่งตั้งขึ้นในแต่ละแมทซ์ โดยจะนั่งหรือยืนตรงด้านข้างของโต๊ะในแนวเดียวกันกับเน็ต และห่างจากโต๊ะประมาณ 2-3 เมตร
19.2.2) ผู้ตัดสินมีหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้
19.2.2.1 ตรวจอุปกรณ์และดูแลสภาพความเรียบร้อยของสนามแข่งขันและรายงานต่อผู้ชี้ขาดทันทีที่สภาพสนามบกพร่อง
19.2.2.2 ทำหน้าที่ในการสุ่ม เพื่อเลือกลูกเทเบิลเทนนิสในกรณีที่ผู้เล่นไม่สามารถตกลงกันได้
19.2.2.3 ทำหน้าที่ในการเสี่ยง เพื่อให้ผู้เล่นเลือกส่ง เลือกรับ หรือเลือกแดน
19.2.2.4 ตัดสินใจผ่อนผันในการส่งลูกของผู้เล่นที่หย่อนสมรรถภาพทางร่างกาย
19.2.2.5 ควบคุมลำดับการส่ง การรับ การเปลี่ยนแดน และแก้ไขในกรณีที่ผิดพลาด
19.2.2.6 ตัดสินผลของการตีโต้ว่าได้คะแนนหรือเล็ท
19.2.2.7 ทำหน้าที่ในการขานคะแนนและใช้สัญญาณมือตามข้อ 19.2.3
19.2.2.8 เป็นผู้แนะนำระบบการแข่งขันแบบเร่งเวลา
19.2.2.9 ควบคุมการแข่งขันให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
19.2.2.10 ควบคุมการแนะนำหรือการสอนของผู้เล่น และมารยาทความประพฤติของผู้เล่นให้เป็นไปตามกติกา
19.2.3) ผู้ตัดสินจะใช้สัญญาณมือเพื่อช่วยในการตัดสินควบคู่ไปกับการขานคะแนน ดังนี้
19.2.3.1 เมื่อได้คะแนน ผู้ตัดสินจะกำมือโดยหันหน้ามือออก ยกกำปั้นขึ้นมาระดับหัวไหล่ด้านของฝ่ายที่ได้คะแนน
19.2.3.2 ในตอนเริ่มเกมหรือในการเปลี่ยนส่ง ผู้ตัดสินจะผายมือไปยังแดนหรือฝ่ายนั้นๆ
19.2.3.3 เมื่อการแข่งขันเป็นเล็ท ผู้ตัดสินจะยกมือไปข้างหน้าเหนือศรีษะ เพื่อแสดงว่าการตีนั้นหยุดลง
19.2.3.4 เมื่อลูกถูกขอบด้านบนโต๊ะ ผู้ตัดสินจะชี้มือไปยังจุดที่ลูกสัมผัสถูกขอบโต๊ะ
19.2.3.5 ขณะเปลี่ยนแดนในครึ่งเกมสุดท้าย ผู้ตัดสินจะไขว้มือทั้ง 2 ข้างในระดับอก เพื่อให้ผู้เล่นเปลี่ยนแดน
19.3 ผู้ช่วยผู้ตัดสิน
19.3.1) ผู้ช่วยผู้ตัดสินจะถูกแต่งตั้งขึ้นในแต่ละแมทซ์ จำนวน 1-2 คน โดยนั่งตรงข้ามกับผู้ตัดสิน ในกรณีที่มีผู้ช่วยผู้ตัดสิน 1 คน จะนั่งแนวเดียวกันกับเน็ต หากมีผู้ช่วยผู้ตัดสิน 2 คน แต่ละคนจะนั่งแนวเดียวกันกับเส้นสกัดแต่ละด้าน
19.3.2) ผู้ช่วยผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินว่าลูกเทเบิลเทนนิสสัมผัสถุกขอบโต๊ะหรือไม่ ในด้านที่ใกล้ที่สุดกับตนเอง
19.3.3) ทั้งผู้ตัดสินและผู้ช่วยผู้ตัดสินอาจจะตัดสินใจดังนี้
19.3.3.1 พิจารณาลักษณะการส่งลูกของผู้เล่นว่าถูกต้องตามกติกาหรือไม่
19.3.3.2 ในการส่งลูก ลูกนั้นสัมผัสถูกเน็ตหรือไม่
19.3.3.3 พิจารณาว่าผู้เล่นขวางลูกหรือไม่
19.3.3.4 ในขณะแข่งขันมีส่งที่เข้ามารบกวนอันจะมีผลต่อการแข่งขันหรือไม่
19.3.3.5 รักษาเวลาในการฝึกซ้อม ในการเล่น หรือในขณะหยุดพัก
19.3.4) การตัดสินใดๆ ของผู้ตัดสินและผู้ช่วยผู้ตัดสินตามข้อ 19.3.3) จะต้องไม่ก้าวก่ายต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่แต่งตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ
19.3.5) ถ้าแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ตัดสิน 2 คน ผู้ช่วยผู้ตัดสินที่จะทำหน้าที่ตามข้อ 19.3.2 , 19.3.3.1 และ 19.3.3.3 และในการขานอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กับโต๊ะและผู้เล่นในด้านของเขา
19.3.6) ในการแข่งขันระบบเร่งเวลา หากมีผู้ช่วยผู้ตัดสิน 1 คน จะต้องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่นับจำนวนครั้งขึ้นมาต่างหาก ถ้ามีผู้ช่วยผู้ตัดสิน 2 คน ผู้ช่วยผู้ตัดสินจะเป็นผู้นับจำนวนครั้ง โดยผู้นับคือผู้ช่วยผู้ตัดสินที่อยู่ใกล้กับผู้เล่นที่เป็นฝ่ายรับ
20. การประท้วง
20.1 จะไม่มีการตกลงกันเองของผู้เล่นหรือหัวหน้าทีมที่จะเปลี่ยนแปลงคำตัดสินของผู้ตัดสินหรือเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่เกมการแข่งขันเกิดปัญหาขึ้นตามข้อเท็จจริง หรือเปลี่ยนแปลงการตีความตามกติกาหรือกฎข้อบังคับของผู้ชี้ขาด หรือเปลี่ยนแปลงการดำเนินการจัดซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน
20.2 การประท้วงจะต้องไม่คัดค้านต่อการตัดสินของผู้ตัดสินหรือเจ้าหน้าที่ในกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นตามข้อเท็จจริง หรือประท้วงในการตัดสินของผู้ชี้ขาดในกรณีที่เกี่ยวกับการตีความตามกติกาหรือกฏข้อบังคับ
20.3 การประท้วงเกี่ยวกับการตัดสินของผู้ตัดสินในกรณีเกี่ยวกับการตีความในปัญหาของกติกาหรือกฏข้อบังคับ ให้ทำการประท้วงต่อผู้ชี้ขาด และการตัดสินของผู้ชี้ขาดถือว่าสิ้นสุด
20.4 การประท้วงเกี่ยวกับการตัดสินของผู้ชี้ขาดในกรณีเกี่ยวกับปัญหาของการจัดการแข่งขันนอกเหนือจากกติกาหรือกฎข้อบังคับ ให้ทำการประท้วงต่อคณะกรรมการจัดการแข่งขัน และการตัดสินของคณะกรรมการจัดการแข่งขันถือว่าสิ้นสุด
20.5 การแข่งขันประเภทบุคคล การประท้วงจะทำได้เฉพาะผู้เล่นซึ่งเป็นคู่กรณีในแมทซ์ที่ปัญหาได้เกิดขึ้น และในการแข่งขันประเภททีม การประท้วงจะทำได้เฉพาะหัวหน้าทีมซึ่งเป็นคู่กรณีในแมทซ์ที่ปัญหาเกิดขึ้นเท่านั้น
20.6 ปัญหาการตีความตามกติกาหรือกฏข้อบังคับที่เกิดจากการตัดสินของผู้ชี้ขาดหรือปัญหาของการจัดการแข่งขันหรือดำเนินการแข่งขันที่เกิดขึ้นจากการตัดสินของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ผู้เล่นหรือหัวหน้าทีมอาจจะประท้วงผ่านต้นสังกัดหรือสโมสรของตนไปยังสมาคมก็ได้ สำหรับการพิจารณาของสมาคมจะพิจารณาหาข้อปฏิบัติสำหรับการตัดสินต่อไปในอนาคต แต่ทั้งนี้จะไม่มีผลต่อคำตัดสินในครั้งที่ผ่านมาใดๆ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วโดยผู้ชี้ขาดหรือคณะกรรมการจัดการแข่งขันที่รับผิดชอบ
21. การดำเนินการแข่งขัน
21.1 ผู้เล่นจะได้รับอนุญาตให้ฝึกซ้อมบนโต๊ะแข่งขันเป็นเวลาไม่เกิน 2 นาที ก่อนการแข่งขัน สำหรับในช่วงเวลาระหว่างการแข่งขันจะไม่สามารถทำการฝึกซ้อมได้ ซึ่งการฝึกซ้อมนอกเหนือจากที่กล่าวมาอาจจะขยายออกไปได้โดยการอนุญาตของผู้ชี้ขาด
21.2 ถ้าแมทซ์การแข่งขันไม่สามารถเริ่มได้เนื่องจากผู้เล่นไม่สามารถตกลงกันได้ในการเลือกลูกแข่งขัน ผู้ตัดสินจะเป็นผู้เลือกให้โดยวิธีการสุ่มและถ้าผู้เล่นยังปฏิเสธอยู่อาจจะถูกปรับเป็นแพ้โดยผู้ชี้ขาด
21.3 ในระหว่างการแข่งขัน ผู้ตัดสินอาจจะอนุญาตให้หยุดเพื่อทำการเช็ดเหงื่อได้ในช่วงเวลาอันสั้นที่สุดเท่าที่จำเป็นซึ่งจะสามารถทำได้เมื่อครบทุกๆ 5 คะแนนเท่านั้น และเมื่อขณะเปลี่ยนแดนกันในเกมสุดท้าย
21.4 ถ้าไม้เทเบิลเทนนิสของผู้เล่นหักในระหว่างการแข่งขัน ผู้เล่นจะต้องเปลี่ยนไม้อันใหม่ทันทีด้วยไม้ของผู้เล่นที่นำติดตัวเข้ามาในพื้นที่การแข่งขันหรือไม้ที่ถูกส่งให้กับผู้เล่นในพื้นที่การแข่งขันก็ได้
21.5 ผู้เล่นจะได้รับอนุญาตอย่างมีเหตุผลที่จะตรวจสอบอุปกรณ์ที่เปลี่ยนใหม่อันเกิดจากการชำรุด เช่น ไม้เทเบิลเทนนิสหรือลูกเทเบิลเทนนิสที่ชำรุด แต่ก็จะไม่มากไปกว่าการฝึกตีโต้ 2-3 ครั้งก่อนการเล่นใหม่
21.6 ผู้เล่นจะต้องวางไม้เทเบิลเทนนิสของเขาบนโต๊ะแข่งขัน ระหว่างช่วงหยุดพักระหว่างเกม
21.7 ผู้เล่นจะต้องอยู่ในพื้นที่การแข่งขันหรือใกล้พื้นที่การแข่งขันตลอดเวลาการแข่งขันนั้น โดยในการหยุดพักระหว่างเกมผู้เล่นจะต้องอยู่ในระยะไม่เกิน 3 เมตร ของพื้นที่การแข่งขัน ภายใต้การควบคุมของผู้ตัดสิน การออกนอกระยะดังกล่าวสามารถทำได้โดยต้องได้รับอนุญาตจากผู้ชี้ขาด
22. การยุติการเล่นฉุกเฉิน
22.1 ผู้ชี้ขาดอาจจะอนุญาตให้ยุติการเล่นชั่วคราวในช่วงเวลาอันสั้นที่สุด ซึ่งจะไม่เกิน 10 นาที ถ้าผู้เล่นไม่สามารถเล่นได้เนื่องจากอุบัติเหตุ โดยมีเงื่อนไขว่า ในความเห็นของผู้ชี้ขาดการยุติการเล่นชั่วคราวนั้นไม่น่าจะทำให้ผู้เล่นหรือคู่เล่นฝ่ายตรงข้ามเสียเปรียบเกินควร
22.2 การยุติการเล่นชั่วคราวจะไม่อนุญาตสำหรับความไม่พร้อมของร่างกายที่เกิดขึ้นในขณะแข่งขันหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น เช่น ความอ่อนเพลีย ตะคริว หรือความไม่สมบูรณ์ของผู้เล่น เหล่านี้จะไม่อนุญาตให้เป็นการยุติการเล่นฉุกเฉิน การยุติการเล่นฉุกเฉินจะยุติในกรณีที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุเท่านั้น เช่น การบาดเจ็บเนื่องจากหกล้ม
22.3 ระหว่างการยุติการเล่นฉุกเฉิน ผู้ชี้ขาดอาจจะอนุญาตให้ผู้เล่นทำการฝึกซ้อมบนโต๊ะแข่งขันนั้นรวมไปถึงโต๊ะแข่งขันอื่นๆ ได้
23. การแนะนำผู้เล่นหรือการสอนผู้เล่น
23.1 ในการแข่งขันประเภททีม ผู้เล่นจะได้รับคำแนะนำหรือการสอนจากใครก็ได้ แต่ในการแข่งขันประเภทบุคคลผู้เล่นหรือคู่เล่นจะได้รับการสอนจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจะต้องแจ้งให้ผู้ตัดสินทราบก่อนการแข่งขัน ถ้าบุคคลที่ไม่มีหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งมาทำการสอน ผู้ตัดสินจะใช้ใบแดงไล่บุคคลนั้นออกจากบริเวณพื้นที่แข่งขัน
23.2 ผู้เล่นจะได้รับการสอนในระหว่างหยุดพักระหว่างจบเกม หรือระหว่างช่วงหยุดพักการเล่นชั่วคราวที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น หากมีบุคคลสอนผู้เล่นในขณะแข่งขัน ผู้ตัดสินจะใช้ใบเหลืองและเตือนบุคคลนั้นไม่ให้กระทำเช่นนั้นอีก และแจ้งให้ทราบว่าในครั้งต่อไปจะให้ออกจากบริเวณพื้นที่แข่งขัน
23.3 หลังจากผู้ตัดสินได้เตือนแล้ว หากมีบุคคลในทีมหรือบุคคลอื่นที่ทำการสอนอย่างผิดกติกาอีก ผู้ตัดสินจะใช้ใบแดงไล่ออกจากพื้นที่การแข่งขันไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ถูกเตือนมาก่อนหน้านั้นหรือไม่ก็ตาม
23.4 ในการแข่งขันประเภททีม ผู้สอนที่ถูกไล่ออกจากพื้นที่แข่งขันจะไม่สามารถกลับเข้ามาได้อีก จนกระทั่งจบการแข่งขันประเภททีม ยกเว้นเขาผู้นั้นต้องลงทำการแข่งขัน สำหรับประเภทบุคคลผู้สอนไม่สามารถกลับเข้ามาได้อีกจนกระทั่งจบการแข่งขันแมทซ์นั้น
23.5 ถ้าผู้สอนปฏิเสธที่จะออกจากพื้นที่การแข่งขัน หรือกลับเข้ามาในพื้นที่การแข่งขันก่อนที่การแข่งขันจะเสร็จสิ้น ผู้ตัดสินจะยุติการเล่นและรายงานต่อผู้ชี้ขาดทันที
24. ความประพฤติ
24.1 ผู้เล่นและผู้ฝึกสอน จะต้องไม่ทำกติกาหรือความประพฤติที่ไม่ดีอันจะมีผลต่อฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ชม หรือทำให้เกมการแข่งขันเกิดความเสียหาย ความประพฤติดังกล่าว เช่น จงใจทำให้ลูกแตก,เคาะโต๊ะด้วยไม้เทเบิลเทนนิส,พูดคำหยาบ หรือจงใจตะโกนด้วยเสียงดังอันควร, แกล้งตีลูกเทเบิลเทนนิสให้ออกจากพื้นที่แข่งขัน หรือการไม่เคารพเชื่อฟังผู้ตัดสินและเจ้าหน้าที่ ตลอดจนละเมิดข้อบังคับในการสอนผู้เล่นระหว่างการแข่งขัน
24.2 เมื่อผู้ตัดสินได้พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้เล่นหรือผู้ฝึกสอนทำความประพฤติไม่ดีดังกล่าว ผู้ตัดสินจะให้ใบเหลืองและเตือนถึงการลงโทษหากยังกระทำอยู่อีก สำหรับในประเภทคู่ การเตือนผู้เล่นคนหนึ่งหมายถึงมีผลต่อทั้ง 2 คนด้วย
24.3 หลังจากที่ได้รับการเตือนแล้ว ถ้าผู้เล่นยังกระทำลักษณะดังกล่าวอีกหรือลักษณะอื่นๆ อีก ผู้ตัดสินจะให้ 1 คะแนนแก่ฝ่ายตรงข้าม หลังจากนั้นหากยังกระทำอยู่อีกผู้ตัดสินจะให้คะแนน 2 คะแนนแก่ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในการให้คะแนนแต่ละครั้งผู้ตัดสินจะใช้ใบเหลืองและใบแดงชูขึ้นพร้อมกัน ทั้งนี้ยกเว้นกรณี 24.5
24.4 หลังจากผู้แนะนำหรือผู้สอนได้รับการเตือนแล้ว แต่ยังกระทำอยู่อีก ผู้ตัดสินจะไล่เขาออกจากพื้นที่โดยใช้ใบแดง ซึ่งเขาจะกลับมาไม่ได้จนกว่าการแข่งขันในประเภททีมนั้นได้เสร็จสิ้นลงหรือจบการแข่งขันในคู่นั้นสำหรับประเภทบุคคล ทั้งนี้ยกเว้นกรณีข้อ 24.5
24.5 ถ้าผู้เล่นได้ถูกลงโทษในเรื่องเกี่ยวกับความประพฤติโดยให้คะแนนแก่ฝ่ายตรงข้าม 2 ครั้งแล้วแต่ยังกระทำอยู่อีก หรือเมื่อใดก็ตามที่ผู้เล่นหรือผู้สอนทำการละเมิดอย่างร้ายแรง ผู้ตัดสินจะยุติการเล่นและรายงานต่อผู้ชี้ขาดทันที
24.6 ผู้ชี้ขาดอาจจะใช้มาตรการทางวินัยแก่ผู้เล่นภายใต้ดุลยพินิจของเขาสำหรับความประพฤติที่ไม่สมควร ก้าวร้าว ฯลฯ โดยอาจจะไล่ผู้เล่นออกจากแมทซ์การแข่งขันในประเภทนั้นๆ หรือการแข่งขันทั้งหมดโดยการใช้ใบแดง แม้ว่าผู้ตัดสินจะรายงานให้ทราบหรือไม่ก็ตาม
24.7 ถ้าผู้เล่นถูกไล่ออก 2 ครั้งในประเภททีม หรือ 2 ครั้งในประเภทบุคคลในแมทซ์นั้น ผู้เล่นจะถูกออกจากการแข่งขันในประเภททีมหรือประเภทบุคคลในแมทซ์นั้นโดยอัตโนมัติ
24.8 ถ้าพบว่าผู้เล่นได้เปลี่ยนไม้เทเบิลเทนนิสของเขาในระหว่างการเล่นโดยไม่แจ้งให้ผู้ตัดสินและฝ่ายตรงข้ามทราบ ผู้ตัดสินจะยุติการเล่นและรายงานต่อผู้ชี้ขาดทันที ในโอกาสแรกผู้ชี้ขาดจะเตือนผู้เล่น หากยังกระทำอีกจะถูกปรับเป็นแพ้โดยผู้ชี้ขาด
25. การแข่งขันประเภททีม
25.1 ในการแข่งขันประเภททีมจะทำการแข่งขันแบบ SWAYTHLING CUP หรือ CORBILLON CUP หรือระบบอื่นๆ ซึ่งจะต้องระบุลงในระเบียบการแข่งขันนั้นๆ
25.2 การแข่งขันแบบ SWAYTHLING CUP จะต้องประกอบด้วยผู้เล่น 3 คน โดยก่อนการแข่งขันหัวหน้าทีมจะต้องมาจับฉลากเสี่ยงว่าทีมใดจะได้ทีม A,B,C หรือ X,Y,Z
25.2.1) ลำดับการแข่งขันแบบ SWAYTHLING CUP มีดังนี้
คู่ที่ 1 A – X 
คู่ที่ 2ฺ B – Y
คู่ที่ 3 C – Z
คู่ที่ 4 A – Y
คู่ที่ 5 B – X
25.2.2) การแข่งขันแต่ละคู่จะแข่งขันรู้ผลแพ้ชนะ 2 ใน 3 เกม และทีมแมทซ์จะถือผลแพ้ชนะ 3 ใน 5 คู่
25.3 การแข่งขันแบบ CORBILLION CUP จะประกอบด้วยผู้เล่น 2 , 3 หรือ 4 คน โดยก่อนการแข่งขันหัวหน้าทีมจะต้องมาจับฉลากเสี่ยงว่าทีมใดจะได้ทีม A,B,C หรือ X,Y,Z
25.2.1) ลำดับการแข่งขันแบบ CORBILLION CUP มีดังนี้
คู่ที่ 1 A – X
คู่ที่ 2 B – Y
คู่ที่ 3 ประเภทคู่
คู่ที่ 4 A – Y
คู่ที่ 5 B – X
25.3.2) การแข่งขันแต่ละคู่จะเป็นการแข่งขันประเภทเดี่ยว ยกเว้นในคู่ที่ 3 เป็นการแข่งขันประเภทคู่ ซึ่งประเภทคู่นี้จะส่งรายชื่อหลังจากการแข่งขันประเภทเดี่ยวคู่ที่ 2 เสร็จสิ้นลงแล้วก็ได้ โดยจะต้องเป็นผู้เล่นที่มีชื่ออยู่ในทีม
25.3.3) การแข่งขันแต่ละคู่จะแข่งขันรู้ผลแพ้ชนะ 2 ใน 3 เกม และทีมแมทซ์จะถือผลแพ้ชนะ 3 ใน 5 คู่
25.3.4) เมื่อจบการแข่งขันในแต่ละคู่ ผู้เล่นจะสามารถหยุดพักได้ไม่เกิน 5 นาที
26. การแข่งขันแบบแพ้คัดออก
26.1 จำนวนตำแหน่งของระบบการแข่งขันแพ้คัดออกจะต้องมีจำนวนเป็น 2 เท่า เช่น 2 , 4 , 8 , 16 , 32 เป็นต้น
26.2 ถ้าจำนวนผู้เล่นมีน้อยกว่าตำแหน่ง ให้ใส่ ชนะผ่าน (BYE) เพิ่มเข้าไปในรอบแรก
26.3 ถ้าจำนวนผู้เล่นมีมากกว่าตำแหน่ง ให้ใส่รอบคัดเลือก (QUALIFIERS) 
26.4 การชนะผ่าน (BYE) หรือการคัดเลือก (QUALIFIERS) จะต้องกระจายอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยการชนะผ่าน(BYE) จะต้องอยู่กับมือวางอันดับแรก
26.5 การวางมืออันดับ
26.5.1) ผู้เล่นที่มีฝีมือดีตามอันดับจะต้องถูกวางตัวเพื่อไม่ให้พบกันก่อนที่จะถึงรอบสุดท้ายของการแข่งขัน
26.5.2) ผู้เล่นที่มีจากสโมสรเดียวกันจะถูกจับแยกกันให้แยกกันให้ห่างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อไม่ไห้พบกันก่อนที่จะถึงรอบสุดท้ายของการแข่งขัน
26.5.3) ผู้เล่นมือวางอันดับ 1จะถูกจัดให้อยู่บนสุด ผู้เล่นมืออันดับ 2 ถูกจัดให้อยู่ล่างสุดผู้เล่นมือวางอันดับ 3 – 4 จะจับฉลากระหว่างผู้เล่นมือ 1 – 2
26.5.4) ผู้เล่นมือวางอันดับ 5 – 8 จะจับฉลากอยู่ระหว่างผู้เล่นตามข้อ 26.5.3
26.5.5) ผู้เล่นมือวางอันดับ 9 – 16 จะจับฉลากอยู่ระหว่าง ผู้เล่นตามข้อ 26.5.4 ตามลำดับ
27. กำหนดการแข่งขัน
27.1 ในการแข่งขันระดับภายในประเทศ ผู้เล่นจะต้องทำการแข่งขันตามที่กำหนด หากเลยเวลาแข่งขันให้ปรับเป็นแพ้โดยผู้ชี้ขาด ดังนี้
27.1.1) ประเภทบุคคล ให้เวลา 5 นาที นับจากกำหนดเวลาแข่งขัน หรือหากเลยกำหนดเวลาแข่งขันแล้วให้นับจากเวลาที่เรียกลงทำการแข่งขัน
27.1.2) ประเภททีม ให้เวลา 15 นาที นับจากกำหนดเวลาแข่งขันหรือหากเลยกำหนดเวลาแข่งขันแล้วนับจากเวลาที่เรียกมาจับฉลาก คือโดยจะต้องมีผู้เล่นอย่างน้อย 2 คนในการแข่งขันระบบ CORBILLION CUP และจะต้องมีผู้เล่นอย่างน้อย 3 คน ในการแข่งขันระบบ SWAYTHLING CUP
27.2 เวลาที่ระบุไว้ตามข้อ 27.1.1 , 27.1.2 นี้ อาจอนุญาตขยายออกไปได้โดยการอนุญาตของผู้ชี้ขาด
28. การคิดคะแนนในการแข่งขันแบบวนพบกันหมด
28.1 ในการแข่งขันแบบวนพบกันหมด ผู้เล่นหรือทีมภายในกลุ่มนั้นต้องแข่งขันพบกันทุกทีมโดยผู้ชนะ จะได้ 2 คะแนน ผู้แพ้จะได้ 1 คะแนน และผู้ที่ไม่แข่งขันหรือแข่งขันไม่เสร็จสิ้น จะได้ 0 คะแนน และการจัดอันดับจะดูผลจากคะแนนแมทซ์นี้เป็นอันดับแรก
28.2 ถ้าผู้เล่น / ทีมที่มีคะแนนแมทซ์เท่ากันตั้งแต่ 2 คน / ทีมขึ้นไปการจัดอันดับให้ดูผลการแข่งขันเฉพาะคน / ทีม ที่มีคะแนนเท่ากันเท่านั้น โดยใช้ผลแพ้ชนะของบุคคล (สำหรับประเภททีม)เก หรือ คะแนน ตามลำดับจนกว่าจะได้ข้อยุติ ซึ่งวิธีการคิดคะแนนในแต่ละขั้นตอนให้ใช้คะแนนได้ หารด้วยคะแนนเสีย
28.3 ในการคิดคะแนนตามขั้นตอนหากมีหนึ่งหรือมีมากกว่าหนึ่งในกลุ่มนั้นแสดงผลต่างขณะที่ส่วนอื่นๆยังมีคะแนนเท่ากันอยู่ ผลการแข่งขันของผู้ที่เท่ากันนั้นจะถูกคำนวณย่อยต่อไปตามลำดับคือ ผลบุคคล (สำหรับประเภททีม)จำนวนเกม คะแนนในเกม
28.4 หากคิดคะแนนตามข้อ 28.1 , 28.2 และ 28.3 แล้วยังมีคะแนนเท่ากันอีกให้ใช้วิธีการจับฉลาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น